สธ. คุมเข้มตรุษจีน แนะซื้อเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ปลอดภัย เลี่ยงอาหารมันเยิ้ม


กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ย่านเยาวราช รณรงค์เลือกซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ สะอาดปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน คุมเข้มการปรุงประกอบอาหารก่อนบริโภค แนะประชาชนหลีกเลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด ที่มีน้ำมันเยิ้ม หวั่นโรคอ้วนคุกคามสุขภาพ พร้อมย้ำหลัก 3 ส. สุกเสมอ สะอาด และสงวนคุณค่า 


วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2556)นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ในการเยี่ยมชมเมนูชูสุขภาพสู่อาหารปลอดภัยในตลาดเยาวราช ว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี การจำหน่ายสินค้าภายในตลาดหรือแหล่งเลือกซื้อสินค้าต่างๆ คึกคักเป็นพิเศษ ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้าจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดปลอดภัย โดยเฉพาะการเลือกซื้อเป็ด ไก่ ต้องสดใหม่ เนื้อแน่นสะอาด ไม่มีสีคล้ำ ไม่มีจ้ำเลือด ไม่มีการ ทาสีตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนเนื้อหมูต้องเลือกเนื้อหมูที่มีสีแดงตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นเหม็น และที่สำคัญต้องไม่มี  เม็ดสาคูหรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด เพื่อความปลอดภัยควรเลือกซื้อจากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐานว่าถูกสุขอนามัย สำหรับผักและผลไม้สด ควรเลือกซื้อผลไม้ตามฤดูกาลจะได้ผักและผลไม้สดใหม่มีคุณภาพ สังเกตที่เนื้อผักและผลไม้ ต้องแน่น สีสดเป็นธรรมชาติ ไม่เหี่ยวเฉา เน่าหรือช้ำ หรือขึ้นรา ไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก รวมทั้งคราบสีขาวของ ยาฆ่าแมลง ผักและผลไม้สดก็ต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้และมีเครื่องหมายรับรอง ส่วนไข่เป็ด ไข่ไก่ ต้องมีลักษณะ ผิวนวลคล้ายแป้งเคลือบอยู่ที่เปลือกไข่ เปลือกไข่ต้องไม่แตกร้าว ไม่มีคราบมูลสัตว์ หรือคราบสกปรกติดมา วิธีการสังเกตไข่สดใหม่จะมีน้ำหนักมากกว่าไข่เก่า และเมื่อเขย่าจะไม่มีเสียงคลอน

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ก่อนการปรุงอาหารต้องล้างวัตถุดิบทุกครั้ง โดยเฉพาะผักสดต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไป ให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาที หรือใช้สารละลายอื่นๆ ในการล้างหรือแช่นานประมาณ 5 นาที อาทิ น้ำเกลือ น้ำปูนคลอรีน น้ำส้มสายชู  โซดา และน้ำยาล้างผัก เป็นต้น แล้วจึงนำผักสดมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งก็สามารถลดหรือขจัดพิษภัยต่างๆ ในผักสดออกได้ 

ทั้งนี้ การปรุงประกอบอาหารผู้บริโภคควรยึดหลัก 3 ส. คือ 1. สุกเสมอ เนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุกทั่วทั้งชิ้นด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคประเภทแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวตืดที่อยู่ในเนื้อสัตว์ รวมทั้งโรคไข้หวัดนก และก่อนนำมารับประทานควรอุ่นให้สุกอีกครั้ง 2. สะอาด การเก็บรักษาวัตถุดิบ ประเภท ไก่ ไข่ หมู จะต้องเก็บในภาชนะที่สะอาดแยกเป็นสัดส่วนเฉพาะ และต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส  และ 3. สงวนคุณค่า ปรุงอาหารโดยคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการ เช่น นึ่งผักหรือลวกผักก่อนจะนำมาผัดหรือผ่านความร้อนด้วยเวลาสั้น ๆ

ด้าน นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง  ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยการต้ม นึ่ง อบ แทนการผัดหรือทอดด้วยน้ำมันมากเกินไป เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน และให้ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้สดหลังมื้ออาหารทุกครั้ง แต่สำหรับผู้ที่นิยมรับประทานขนมเซ่นไหว้ เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งและน้ำตาลจำเป็นต้องจำกัดปริมาณในการรับประทาน เพราะหากรับประทานมากเกินไป พลังงานที่ใช้ไม่หมดจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย ส่งผลให้มีน้ำหนักเกิน อ้วน และเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้              

กุมภาพันธ์ 1/7****************** 7 กุมภาพันธ์ 2556

แหล่งข่าวโดย » สำนักสารนิเทศ 
[กุมภาพันธ์ ศุกร์ 8,พ.ศ 2556 09:33:23] 
พิมพ์ข่าว

  ลิขสิทธิ์ โดย สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2553 © 2010 |